| HOME | SCI-FI BOOKS | FEATURE | SCI-FI GALLERY I | SCI-FI GALLERY II |

มาเขียนนิยายวิทยาศาสตร์กันเถอะ I

บทความนี้ได้มาจากคุณไพรัตน์ ยิ้มวิลัยโดย ตัดตอนแปลจาก Science in Science Fiction : Making it Work โดย Joan Slonczewski ผู้เขียนเรื่อง A Door into Ocean และ The Children Star ต้นฉบับจากเว็บไซต์ของ Science Fiction and Fantasy Writer of America ผู้จัดรางวัลเนบิวลา ในบทความนี้จะใช้คำว่า ผู้เขียน แทนตัว Joan Slonczewski

ตอนที่ 1 : ได้ไอเดียในการเขียนมาจากไหน?

คุณไปได้ไอเดียมาจากไหน? เป็นคำถามยอดนิยมที่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ต้องเจอ คำถามถัดมาก็คือ คุณแปลงไอเดียนั้นเป็นนิยายได้อย่างไร? และคำถามสำคัญก็คือ คุณเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นเรื่องน่าติดตาม น่าตื่นเต้นได้อย่างไร?

อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่านิยายวิทยาศาสตร์มีหลายรูปแบบ งานของ ไมเคิล ไคร์ซตัน เป็นงานสยองขวัญที่เน้นข้อมูลเทคนิคมากมาย แม้กระทั่งตารางแสดงผลข้อมูล โดยที่งานของเขาไม่ค่อยเน้นความสำคัญของตัวละครหรือศิลปะมากนัก ในขณะที่ เออร์ซูลา เลอ กวิน (Ursula Le Guin) เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในเชิงมนุษยวิทยา เน้นไปที่สังคมศาสตร์ และตัวละครที่มีความลึก แนวโน้มของนิยายวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันคือ อนาคตประวัติศาสตร์ (future historical) ซึ่งเป็นการคาดการณ์ด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ ส่วนงานของผู้เขียนเอง เป็นการสำรวจปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคม และตัวมนุษย์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งนั้น

ในฐานะของนักเขียน คุณต้องตัดสินใจว่า งานของคุณจะอยู่ในแนวไหน ในความเป็นจริงงานที่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์อาจได้รับการมองว่า เป็นนิยายแฟนตาซีได้ไม่ยาก ถ้าหากงานของคุณมีความเด่นเฉพาะตัวเองเพียงพอ คุณก็จะได้รูปแบบแนวทางของคุณเอง อย่างไรก็ดี ถ้าหากต้องการบรรยากาศของวิทยาศาสตร์ที่จริงจังก็ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ซึ่งผู้เขียนสามารถเสนอวิธีการที่ผู้เขียนเองใช้ให้เป็นตัวอย่างได้

ไอเดียใหม่ ๆ มักจะมาจากประสบการณ์จริงให้ห้องปฏิบัติการ ในห้องแล็บของผู้เขียนและเพื่อน ๆ มีเรื่องที่พิลึกพิลั่นแปลกมากกว่า นิยายวิทยาศาสตร์ที่พิสดารที่สุดเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น แม่เหล็กที่มีอำนาจสูงมากขนาดดึงดูดลวดเสียบกระดาษที่อยู่อีกห้องหนึ่งได้ แบคทีเรียที่ผ่าเหล่าได้เป็นพัน ๆ แบบในชั่วข้ามคืน สารเคมีอัศจรรย์ที่เปลี่ยนสีทุก ๆ สองสามวินาที ในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ทำให้ ผู้เขียนได้เปรียบตรงนี้ แต่นักเขียนเองก็สามารถติดต่อขอเข้าไปเยี่ยมชมห้องแล็บของนักวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกัน พวกเขายินดีที่ จะคุยเกี่ยวกับงานของตัวเองอยู่แล้ว (ในกรณีเมืองไทย ก็ไม่แน่ใจครับว่าคนทั่วไปขอเข้าไปดูได้หรือไม่ -- ไพรัตน์) อินเตอร์เน็ตก็เป็น แหล่งข้อมูลชั้นดีของคุณ

นอกจากห้องแล็บ แหล่งข้อมูลที่สำคัญก็คือบรรดาวารสารวิชาการทั้งหลาย เช่น Science and Nature วารสารเหล่านี้มีรายงานการวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับการค้นพบใหม่ ๆ อยู่ไม่ใช่น้อย แต่ก็อาจจะอ่านยากบ้างแม้แต่ตัวนักวิทยาศาสตร์เองก็ตาม และงานเหล่านี้ มักไม่ไปปรากฏในนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ทั่ว ๆ ไปเท่าไรนัก ตัวอย่างที่ผู้เขียนได้จากแหล่งข้อมูลนี้ก็คือ ผู้เขียนอ่าน Science แล้วพบว่ามีแบคทีเรียที่สามารถกินยูเรเนียมได้ และมันก็ลงตัวกันงานที่กำลังเขียนอยู่พอดี ที่กำลังต้องการหาอะไรซักอย่างที่สามารถกินบางอย่างที่ไม่มีใครกินได้

ถ้าจะหาข้อมูลที่อ่านได้ง่ายขึ้น ก็อาจจะลอง Scientific American ส่วนในหนังสือพิมพ์ หนังสือวิทยาศาสตร์ทั่วไป ก็ต้องละเอียดรอบคอบสักนิด บางทีข้อมูลในหนังสือแบบนี้ก็ผิดพลาดได้

ทีนี้เมื่อได้ไอเดียของคุณแล้ว ก็ควรจะตรวจสอบไอเดียกับผู้เชี่ยวชาญด้วย นักฟิสิกส์เคยบอกกับผู้เขียนว่า เครื่องต้านแรงโน้มถ่วงน่ะ มีการเขียนกันมากแล้ว แต่ถ้าจะใช้หลุมขาวเป็นแหล่งพลังงานล่ะก็ เป็นเรื่องที่ต้องจริงจังมากทีเดียว

ในท้ายที่สุด คุณต้องคิดไว้ในใจว่า ข้อผิดพลาด ไม่ใช่เรื่องเสียหายใหญ่โต นิยายเรื่อง Dune ของ แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต พูดถึงการตั้ง นิคมบนดาวที่มีแต่ทะเลทราย และได้น้ำจืดจากการกลั่นบรรยากาศ ความจริงแล้ว สิ่งนี้จะเป็นไปได้จริงก็เฉพาะทะเลทรายบนโลก เพราะบรรยากาศของโลกเท่านั้นที่มีไอน้ำที่ได้มาจากมหาสมุทร แต่งานชิ้นนี้ก็เป็นนิยายขายดี บางทีวิทยาศาสตร์ในเรื่องของคุณนั้น ถูกต้องแล้ว แต่ก็อาจล้าสมัยได้ในไม่ช้า งานของผู้เขียนเรื่อง A Door into Ocean พูดถึงผู้หญิงที่ผลิตเด็กโดยการหลอมไข่เข้าด้วยกัน ก่อนที่จะมีการพิสูจน์ออกมา งานวิจัยก็ออกมาก่อนแล้วว่า นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะพัฒนาการที่จำเป็นของตัวอ่อน ต้องได้มาจากโครโมโซมของฝ่ายพ่อ

ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4 | next

Email: [email protected]

| HOME | SCI-FI BOOKS | FEATURE | SCI-FI GALLERY I | SCI-FI GALLERY II |

Free GuestBooks by Phaistos Networks!
GO | HOME | SIGN GUESTBOOK | READ GUESTBOOK |
Techyon Net มีที่อยู่เป็น
http://beam.to/tachyon
ด้วยบริการของ
WWW.BEAM.TO
สนับสนุนตาข่ายโดย
WWW.FORTUNECITY.COM