เป็นการยากที่จะบอกว่า อะไรทำให้ไอเดียวิเศษของเราดูน่าเชื่อถือ การใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างหนึ่ง แต่งานของคุณก็จะไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ หากว่าสมมติฐาน หรือการคาดการณ์อนาคตของคุณขาดความท้าทาย สิ่งที่เราจะได้ยินจากนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ก็คือ วิทยาศาสตร์ของจริงที่พวกเขาพากเพียรค้นคว้ามาอย่างหนักนั้น เหล่าบรรณาธิการและผู้อ่านบอกว่าเป็นสิ่งที่ผิด หรือเหลือเชื่อ เราจะทำอย่างไรดีเมื่อความจริงเหลือเชื่อเกินกว่านิยาย
วิธีหนึ่งที่จะทำให้ไอเดียของคุณดูน่าเชื่อถือก็คือ เชื่อมสิ่งที่อยู่ในเรื่องของคุณกับเหตุการณ์จริงในโลก ในเรื่องจูราสสิกปาร์กของไคร์ซตันนั้ฯ เขาพูดถึงไดโนเสาร์ที่มีการเคี้ยวแทะลูกกรงเหล็ก "ยังกับไฮยีน่า" นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียน (และแม้แต่ผู้อ่าน) มองเห็นและพิสูจน์ได้ ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนเองได้สร้าง เอเลียนที่มีอวัยวะในการมองเห็นที่ย่านคลื่นอินฟราเรดในเรื่อง The Wall around Eden และผู้เขียนก็ให้ข้อสังเกตว่า งูหางกระดิ่งในโลกของเราก็มีอวัยวะที่ตรวจยับอินฟราเรดได้ เลนส์ปรับความชัดที่ตาของเอเลียนก็เป็น โซเดียมคลอไรด์ ซึ่งก็เป็นสารที่มีสิ่งมีชีวิตมีอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน
อีกแหล่งหนึ่งของความน่าเชื่อถือก็คือ ความสมจริงสอดคล้อง คุณต้องแน่ใจว่า ความจริงและการคาดการณ์ของคุณ ไม่ว่ามันจะมีเหตุผลในตัวเองแค่ไหนก็ตาม ทุกอย่างต้องสอดรับเป็นเหตุเป็นผลแก่กันในเรื่องทั้งหมด ถ้าคุณจินตนาการถึงดาวเคราะห์ที่มีมวลมากกว่าโลกซักสองเท่าแล้ว แรงดึงดูดมันจะเป็นเท่าไร? องค์ประกอบของบรรยากาศเป็นอะไร? มันใกล้ดวงอาทิตย์แค่ไหน และใช้เวลาเท่าไรในการโคจรครบรอบ? สิ่งมีชีวิตบนนั้นมีรูปร่างอย่างไร หนา เทอะทะ หรือเรียวยาว? ถ้ามันหื่นกระหายในการล่าผู้มาเยือนจากอวกาศ มันจะล่าอย่างไรในยามปกติ?
คำถามเกี่ยวกับชีววิทยาก็มักจะมีการมองข้ามไปอยู่เสมอ ในเรื่อง Door into Ocean ผู้เขียนได้สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ด้วยจุลินทรีย์ที่สังเคราะห์แสงได้ หญ้าเรืองแสง นักล่าทั้งบนฟ้าและในน้ำหลายขนาด แม้กระทั่งตัวกินซาก
อาจจะดูยุ่งยาก เสียเวลา ที่ต้องมาทำสิ่งเหล่านี้ให้ไปด้วยกันได้ แต่นี่เป็นสิ่งที่ทำให้นิยายอย่าง Dune แตกต่างและเป็นที่จดจำได้จากเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่องที่เราลืมไปหมดแล้ว ในงานของผู้เขียนเอง ผู้เขียนจะเริ่มจากการเขียนบทแรก เขียนไปบทหรือสองบท จนกระทั่งเกิดความไม่สอดคล้องกันขึ้นมา แล้วก็จะเริ่มต้นใหม่จากจุดแรก และพยายามต่อไปอีกสักสองบท การทำแบบนี้อาจจะทำให้ต้องเขียนบทแรกถึง 20 ครั้ง แต่ผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่า
นักเขียนที่ได้สร้างโลกอันซับซ้อนของตัวเองขึ้นมาแล้ว อาจจะเลือกที่จะเขียนหนังสืออีกหลายเล่มจากจักรวาลที่เขาสร้างขึ้น โดยการเปลี่ยนสถานที่ในการสำรวจ เปลี่ยนแก่นเรื่อง ดอริส เลสซิง เขียนนิยายเป็นชุดเกี่ยวกับ มาร์ทา เควสต์ ในแอฟริกา เออร์ซูลา เลอ กวิน เขียนนิยายหลายเรื่องในจักรวาลเดียวที่เขาสร้างขึ้น โดยนิคมมนุษย์เชื่อมโยงกันด้วยอุปกรณ์สื่อสารที่เรียกว่า ansible แต่ทุกคนต้องใส่ใจในวัตถุดิบใหม่ ๆ เพื่อปรับเรื่องของเขาให้ถูกต้องในตัวมันเองอยู่เสมอ